สาระน่ารู้(ประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด)

จังหวัดร้อยเอ็ด

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ตามตำนานเล่ากันมาว่า บริเวณที่ตั้งจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน เดิมเป็นเมืองใหญ่ชื่อว่า เมืองสาเกตนคร (อาณาจักรกุลุนทะนคร) เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล มีเมืองขึ้นถึงสิบเอ็ดเมือง (ในสมัยโบราณนิยมเขียนสิบเอ็ด เป็น ๑๐๑ คือ สิบกับหนึ่ง) มีทางเข้าสู่เมืองถึงสิบเอ็ดประตู มีเจ้าผู้ครองนครเรียกว่าพระเจ้ากุลุนทะ มีเชื้อสายสืบสันติวงศ์ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เมืองสาเกตนครหรืออาณาจักรกุลุนทะนคร นอกจากจะมีประตูและเส้นทางเข้าสู่เมืองถึงสิบเอ็ดทางแล้ว ยังมี รหัส ควบคุมความปลอดภัยความมั่นคงของบ้านเมืองอย่างเข้มแข็ง เช่น มีวัดตามรายทางเข้าเมือง และมีปี่ซาววา (ซาว เป็นภาษาอีสานหมายความว่า ๒๐) สามารถส่งสัญญาณเข้าสู่ตัวเมืองบอกข่าวสาร แจ้งเหตุร้ายดีที่จะมาถึงเมืองสาเกตนครให้ทราบล่วงหน้าได้เป็นอย่างดีเมืองสาเกตนครหรืออาณาจักรกุลุน-ทะนครจึงเป็นอาณาจักรที่จัดระบบการปกครองและรัฐประศาสนศาสตร์แตกต่างไปจากอาณาจักรอื่น ๆ

สมัยพระเจ้าสุริยวงศาไชยเชษฐาธรรมิกราช เมืองขึ้นกับเมืองสาเกตนครทั้งสิบเอ็ดเมืองคือ

(๑) เมืองเชียงเหียน (บ้านเชียงเหียน อำเภอเมืองมหาสารคาม)

(๒) เมืองฟ้าแดด (บ้านฟ้าแดดสูงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์)

(๓) เมืองสีแก้ว (บ้านสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)

(๔) เมืองเปือย (บ้านเมืองเปือย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)

(๕) เมืองทอง (บ้านเมืองทอง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)

(๖) เมืองหงษ์ (บ้านเมืองหงษ์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน)

(๗) เมืองบัว (บ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย)

(๘) เมืองคอง (อยู่บริเวณ อำเภอเมืองสรวง) อำเภอสุวรรณภูมิ)

(๙) เมืองเชียงขวง (บ้านจาน อำเภอธวัชบุรี)

(๑๐) เมืองเชียงดี (บ้านโนนหัว อำเภอธวัชบุรี)

(๑๑) เมืองไพ (บ้านเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ)

และในสมัยพระเจ้าสุริยวงศาไชยเชษฐาธรรมิกราช อาณาจักรกุลุนทะนครก็ถึงคราวเสื่อม เมืองขึ้นต่างๆ ทั้งสิบเอ็ดหัวเมืองจึงกระด้างกระเดื่อง ทำตัวกบฏกับเมืองสาเกตนคร ต่างยกทัพมารบราฆ่าฟันกัน ผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ในที่สุดก็จับพระเจ้าสุริยวงศาไชยเชษฐาธรรมิกราชสำเร็จโทษ ราษฎรที่เหลือรอดตายก็อพยพทิ้งฐานไปทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานใหม่

แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เดิมเป็นดินแดนที่เรียกว่าอาณาจักรสุวรรณภูมิ แบ่งแยกอำนาจการปกครองเป็น ๓ อาณาเขต คือ

๑. อาณาเขตทวารวดี อยู่ตอนกลาง มีเมืองนครปฐมเป็นราชธานี

๒. อาณาเขตยาง หรือโยนก อยู่เหนือ มีเมืองเงินยางเป็นราชธานี

๓. อาณาเขตโคตรบูร ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีเมืองนครพนมเป็นราชธานี

ในสมัยนั้นชนชาติเขมรหรือขอมเป็นชนชาติที่เจริญรุ่งเรืองกว่าชนชาติอื่นใดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากชาวอินเดีย ต่อมาขอมก็มีอำนาจครอบครองอาณาจักรนี้เหนือชนชาติอื่นและได้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อาณาเขตต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในอาณาเขตโคตรบูรก็เป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจ หลักฐานที่ยังปรากฏได้แก่

ที่อำเภอพนมไพรยังปรากฏมีซากแสดงภูมิฐานที่ตั้งเมือง เป็นรูปสระรอบ ๆ แสดงว่าเป็นคูเมือง ใกล้สระด้านในเป็นรูปเนินดินสูงแสดงว่าเป็นกำแพงเมือง ตอนกลางมีสระโชติ (สระขี้ลิง) รอบ ๆ สระเป็นเนินสูง ลักษณะเป็นเมืองเก่า และมีแผ่นหินทำเป็นรูปเสมาจมในพื้นดินกว่าสิบแผ่น ซึ่งแสดงว่าเป็นศิลปการสร้างของขอม จึงสันนิษฐานว่าพวกขอมเป็นผู้สร้างเมืองนี้ไว้และยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่ต่อมาเข้าใจว่าอพยพไปอยู่ที่อื่น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการศึกสงคราม หรือโรคระบาด

กู่กาสิงห์ ในท้องที่อำเภอเกษตรวิสัย มีลักษณะเป็นปรางค์กู่ที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลง รูป สี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๔๐ เมตร สูง ๘ เมตร มีประตูเข้าออกทั้งสี่ด้าน ภายในมีศิลาแลงวางทับกันเป็นชั้น ๆ ขนาดกว้างด้านละ ๙ เมตร สูง ๒ เมตร ทางด้านทิศตะวันออกสร้างเป็นบันไดด้วยศิลาแลง มีหินแกะสลักเป็นรูปสิงโต ขนาดใหญ่นั่งตรงเชิงบันได จำนวน ๒ ตัว ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด แต่รูปลักษณะของโบราณสถานนี้เข้าใจว่าสร้างในสมัยเดียวกับปราสาทหินพิมาย

อีกแห่งหนึ่ง คือ กู่คันธนาม ในท้องที่กิ่งอำเภอโพนทราย สร้างด้วยศิลาแลงวางซ้อนกันเป็นรูปลักษณะเหมือนกับปราสาทหินพิมายแต่มีขนาดเล็กกว่าปราสาทหินพิมายมากข้างในมีพระเทวรูปที่สร้างในสมัยขอม

จากหลักฐานซากโบราณสถานเหล่านี้พอจะเป็นเหตุอนุมานได้ว่า อาณาเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดปัจจุบัน เป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับขอมสร้างปราสาทหินพิมาย และอาณาบริเวณนี้คงเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น และได้เสื่อมลงตามที่ชนชาติขอมเสื่อมอำนาจลง

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ราว พ.ศ. ๒๒๔๖ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็ง เบญจศก พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งสืบสายมาจากชาวไทยกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ให้จารย์แก้วคุมไพร่พลสามพันคนเศษ มาสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านเมืองทุ่ง (ท้องที่อำเภอสุวรรณภูมิ) เรียกว่า เมืองทุ่งหรือเมืองทง ขึ้นตรงต่อนครจำปาศักดิ์ จารย์แก้วปกครองเมืองทุ่งอยู่ได้นานสิบหกปีก็ถึงแก่กรรม จารย์แก้วมีบุตรสองคนคือท้าวมืดกับท้าวทน พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจึงทรงแต่งตั้งท้าวมืดเป็นเจ้าเมืองทุ่ง และท้าวทนเป็นอุปราช เมื่อท้าวมืดถึงแก่กรรม ท้าวทนจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแทนพี่ชาย ท้าวมืดมีบุตรสองคนคือ ท้าวเชียงและท้าวสูน ทั้งสองคนไม่พอใจที่ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองสืบแทนบิดา จึงได้คบคิดกับกรมการเมืองที่เป็นสมัครพรรคพวกของตน เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพึ่งพระบรม โพธิสมภาร สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (พระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้นำทองคำแท่งจำนวนมากไปถวายในคราวเข้าเฝ้า พร้อมกับทูลขอกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปช่วยรบกับท้าวทน สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพรหมกับพระยากรมท่าเป็นแม่ทัพเดินทางมาพร้อมกับท้าวเชียงและท้าวสูน เมื่อเดินทางใกล้ถึงเมืองทุ่ง ท้าวทนทราบข่าว จึงพาครอบครัวและไพร่พลอพยพไปอยู่ ณ บ้านกุดจอก เมื่อพระยาพรหมและพระยากรมท่าเข้าเมืองแล้ว ได้ติดตามไปนำตัวท้าวทนมาว่ากล่าวตักเตือนให้คืนดีกันกับท้าวเชียงและท้าวสูนผู้เป็นหลาน ท้าวเชียงกับท้าวสูนก็ได้ครองเมืองทุ่งและเมืองทุ่งจึงขาดจากการปกครองของนครจำปาศักดิ์ มาขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่บัดนั้น


สมัยกรุงธนบุรี

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ท้าวเชียงและท้าวสูนเห็นว่าเมืองทุ่งมีชัยภูมิไม่เหมาะ เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเซ (ลำน้ำเสียว) ถูกน้ำเซาะตลิ่งพังทุกปี จึงได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ ดงท้าวสารและเรียกชื่อใหม่ว่า "เมืองสุวรรณภูมิ" ท้าวเชียงได้สร้างวัดขึ้นสองวัด คือวัดกลางและวัดใต้ สร้างวิหารกว้างห้าวา ยาวแปดวา สูงหกวา สร้างพระพุทธรูปด้วยอิฐและปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างสี่ศอกคืบ สูงแปดศอกคืบ เหมือนกันทั้งสองวัด

ปี พ.ศ. ๒๓๑๘ ท้าวทนซึ่งอพยพครอบครัวและไพร่พลไปอยู่ที่บ้านกุดจอก ได้ปรึกษาหารือกับพระยาพรหมและพระยากรมท่าขออนุญาตทั้งบ้านกุ่มร้างซึ่งเป็นเมืองร้างขึ้นเป็นเมือง พระยา

พรหมและพระยากรมท่าเห็นว่าท้าวทนมีสมัครพรรคพวกมาก จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง จึงมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรี ขอพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองขึ้นที่บ้านกุ่มร้างและให้ชื่อว่า "เมืองร้อยเอ็ด" ตามนามเดิมและให้ท้าวทนเป็นพระขัติยะวงษาเจ้าเมืองคนแรก การสร้างเมืองร้อยเอ็ดขึ้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเขตเมืองสุวรรณภูมิกับเมืองร้อยเอ็ด ดังปรากฏในพงศาวดารว่า "ตั้งแต่ปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นมาตามลำน้ำพาชีถึงปากห้วยดางเดียขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านข้อเหล็ก บ้านแก่งทรายหิน ตั้งแต่ถ้ำเต่าเหวฮวดดวงสวนอ้อย บึงกุย ศาลาอีเก้ง ภูเมง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปัก ศาลาหักมูลแดง ประจบปากลำน้ำพาชีตกลำน้ำมูลนี้ เป็นเขตเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ลำน้ำยางตกลำน้ำพาชีขึ้นไป ภูดอกซ้อน หินทอด ยอดยาง ดู่สามต้น อ้นสามขวาย สนามหมาดหญ้า ผ้าขาวพันนา ฝายพระยานาค ภูเมง มาประจบหนองแก้ว ศาลาอีเก้ง มาบึงกุยนี้ เป็นอาณาเขตเมืองร้อยเอ็ด"

ตามข้อความในพงศาวดารที่ยกมา พอสรุปอาณาเขตเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ดได้ดังนี้

อาณาเขตเมืองสุวรรณภูมิ

ทิศเหนือ จดลำน้ำชี ทุ่งลาดไถ บึงกุย (อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม)

ทิศใต้ จดลำน้ำมูล

ทิศตะวันออก จดลำน้ำมูล ลำน้ำชี

ทิศตะวันตก จดอำเภอภูเวียง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

อาณาเขตเมืองร้อยเอ็ด

ทิศเหนือ จดอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี

ทิศใต้ จดทุ่งลาดไถ ไปอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ทิศตะวันออก จดลำน้ำยัง ภูพาน

ทิศตะวันตก จดอำเภอภูเวียง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

จังหวัดร้อยเอ็ดยุคปัจจุบันจึงตั้งเป็นเมืองขึ้นมาในสมัยกรุงธนบุรี อันสืบเนื่องมาจากเมืองสุวรรณภูมิ แต่ที่ตั้งเมืองร้อยเอ็ดเป็นเมืองร้างซึ่งคาดว่าคงเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองก่อนที่จะถูกทอดทิ้งให้เป็นเมืองร้างด้วยเหตุประการใดก็ตาม จากพงศาวดารแบ่งเขตเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ด จะเห็นได้ว่าทั้งเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ดมีอาณาเขตกว้างใหญ่ ซึ่งต่อมาภายหลังได้แบ่งแยกท้องที่ตั้งเมืองอื่น ๆ ขึ้น

สมัยรัตนโกสินทร์

เมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ดซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง ได้ถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองอื่นหลายเมือง คือ เมืองสุวรรณภูมิถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองชนบท เมืองพุทไธสง เมืองพยัคภูมิพิสัย เมืองร้อยเอ็ดได้ถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองมหาสารคาม เมืองกาฬสินธุ์ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้มีการปรับปรุงรูปการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด อำเภอ เมืองร้อยเอ็ดเปลี่ยนเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิลดฐานะเป็นอำเภอสุวรรณภูมิ อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดร้อยเอ็ดแต่นั้นมา

เมื่อครั้งเกิดกบฏฮ่อ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ธิบดีเป็นแม่ทัพเกณฑ์กำลังคนทางหัวเมืองภาคอีสาน ยกไปปราบฮ่อที่เมืองเวียงจันทร์และเมืองหนองคาย ขณะนั้นเมืองร้อยเอ็ดมีพระขัติยะวงษา (สาร) เป็นเจ้าเมือง และราชบุตร (เสือ) ได้รวบรวมไพร่พลสมทบกับกองทัพพระยามหาอำนาจธิบดีไปปราบฮ่อด้วย ระหว่างทำศึกปราบฮ่อนั้นราชบุตร (เสือ) ถูกยิงด้วยปืนที่มือขวาโลหิตไหล บ่าวไพร่พาหนีมาได้ ส่วนพระขัติยะวงษา (สาร) กลับหนีศึกคืนมาเมืองร้อยเอ็ด เมื่อเสร็จศึกปราบฮ่อแล้วพระยามหาอำมาตย์ธิบดีจึงควบคุมตัวพระขัติยะวงษา (สาร) แต่ได้หนีไปอยู่เมืองนครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาจับได้และส่งไปยังพระมหาอำมาตย์ธิบดีที่เมืองหนองคาย แล้วพระยามหาอำมาตย์ธิบดีกลับมาจัดราชการที่เมืองร้อยเอ็ด โดยตั้งราชบุตร (เสือ) เป็นผู้รักษาราชการ เมืองร้อยเอ็ด ซึ่งภายหลังได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแทนพระขัติยะ วงษา (สาร)

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ทางราชการได้ย้ายกองพลทหารราบที่ ๑๐ จากจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งกองพลทหารราบที่ ๑๐ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีถนนสายหนึ่งชื่อถนนกองพล ๑๐ ซึ่งเป็นถนนสู่กองพลดังกล่าว ต่อมาได้ย้ายกรมทหารราบที่ ๒๐ จังหวัดอุดรธานีมารวมในกองพลทหารราบที่ ๑๐ ภายหลังได้ยุบกองพลทหารราบที่ ๑๐ เป็นกองพันทหารม้าที่ ๕ และได้ยุบกองทัพทหารม้าที่ ๕ ไปในที่สุด


การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงนำวิทยาการแผนใหม่จากประเทศตะวันตกมาใช้ ทรงตั้งกระทรวงขึ้น ๑๒ กระทรวง มีการแบ่งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละกระทรวงให้แน่นอนและมีเสนาบดีรับผิดชอบบริหารงานของแต่ละกระทรวง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยในหัวเมือง หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงเริ่มการจัดตั้งมณฑลขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ โดยรวมหลาย ๆ จังหวัดขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงหรือข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงนี้การปกครองหัวเมืองนั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมไปมาลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจกว้างขวาง แต่การจัดตั้งมณฑลนั้นข้าหลวงหรือข้าหลวงเทศาภิบาลขึ้นตรงต่อส่วนกลาง

ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นโดยรวบรวมหัวเมืองเข้าด้วยกันมี ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกาว มณฑลเขมร มณฑลนครราชสีมาและมณฑลภูเก็ต ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑลลาวกาว

ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้จัดระเบียบบริหารมณฑลแบบใหม่เป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี และมณฑลราชบุรี ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากมณฑลแบบเก่าและต่อมาได้ตั้งมณฑลต่าง ๆ ขึ้นอีกคือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร มณฑลไทรบุรี (ภายหลังยกให้อังกฤษ เมื่อปี ๒๔๕๐) มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร มณฑลอีสาน มณฑลปัตตานี มณฑลจันทบุรี และมณฑลมหาราช ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑลอีสาน

ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานเป็น ๒ มณฑล คือ มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลร้อยเอ็ดมี เมืองร้อยเอ็ด เมืองกาฬสินธุ์ เมืองมหาสารคาม

ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้รวมมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล และมณฑลอุดร ขึ้นเป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน

ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ยุบปกครองภาคอีสาน ให้จังหวัดในมณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบล ไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา

ระบอบมณฑลเทศาภิบาลนี้ได้ยกเลิกไปหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๕


การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ และได้ยกเลิกระบอบมณฑลเทศาภิบาล ขณะนั้นจังหวัดร้อยเอ็ดมี ๙ อำเภอ คือ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอธวัชบุรี อำเภอเสลภูมิ อำเภอโพนทอง อำเภออาจสามารถ อำเภอพนมไพร อำเภอสุวรรณภูมิ

อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอจตุรพักตรพิมาน ต่อมาได้แบ่งพื้นที่เป็นอำเภอหนองพอก อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเมืองสรวง อำเภอโพธิ์ชัย กิ่งอำเภอโพนทราย และกิ่งอำเภอเมยวดี

ต่อมาเมื่อได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนั้นและถือเป็นหลักหรือรากฐานของการแบ่งส่วนราชการไทยสมัยต่อๆ มา พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ได้ถูกปรับปรุงแก้ไขโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วน ภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

เวชกรรม